วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อารยธรรมจีนสมัยเริ่มแรก

กำเนิดอารยธรรมจีน


ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมยาวนานที่สุดประเทศหนึ่ง โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ สามารถค้นคว้าได้บ่งชี้ว่าอารยธรรมจีนมีอายุถึง 5,000 ปี รากฐานที่สำคัญของอารยธรรมจีนคือ การสร้างระบบภาษาเขียน และการพัฒนาแนวคิดลัทธิขงจื๊อ เมื่อประมาณ ศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. ประวัติศาสตร์จีนมีทั้งช่วงที่เป็นปึกแผ่นและแตกเป็นหลายอาณาจักรสลับกันไป ในบางครั้งก็ถูกปกครองโดยชนชาติอื่น วัฒนธรรมของจีนมีอิทธิพลอย่างสูงต่อชาติอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งถ่ายทอดไปทั้งการอพยพ การค้า และการยึดครอง


ความเชื่อเกี่ยวกับการกำเนิดของจีน มีความเชื่อกันอยู่ 3 ทฤษฎี คือ


  1. ทฤษฎีตำนาน กล่าวว่าจีนมีกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อโลกแตกออกมาจากสวรรค์และได้มีพระเจ้าหลายองค์ได้มาช่วยกันสร้างสิ่งต่างให้เกิดขึ้น เช่น สร้างไฟ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ มนุษย์ สัตว์ต่างๆ จากนั้นสิ่งต่างๆ ก็มีมากขึ้นจนมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นชุมชนและขยายขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดเมื่อประมาณ 2,205 ปีก่อนคริสตกาล ก็มีผู้นำชุมชนคนหนึ่งนามว่า “หวงตี้” สามารถตั้งตนเป็นใหญ่ได้ และก่อตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองจีนได้สำเร็จ
  2. ทฤษฎีมนุษย์ปักกิ่ง เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นตามข้อมูลทางวิชาการจากการขุดค้นพบทางโบราณคดีทางตอนใต้ของปักกิ่งในปี ค.ศ. 1927 ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม “มนุษย์ปักกิ่ง” ดังนั้นจึงมีแนวคิดเชื่อกันว่าจีนถือกำเนิดมาแล้วตั้งแต่เมื่อประมาณ 350,000 – 400,000 ปี ความเจริญที่พบในสมัยนี้ได้แก่ การรู้จักนำเอาหินมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือสำหรับการล่าสัตว์และป้องกันตัว รู้จักใช้ไฟเพื่อการดำเนินชีวิต
  3. ทฤษฎีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยอาศัยเหตุผลทางด้านสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่า จีนมีกำเนิดในยุคหินใหม่ หรือเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีศูนย์กลางอยู่ตามลุ่มแม่น้ำเหลือง ซางความเชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี คือ เครื่องปั้นดินเผาและหลักฐานอื่นๆ อีกหลากหลายชนิด โดยมีการแบ่งเป็นยุคต่างๆ ดังนี้

  1. ยุควัฒนธรรมลีและวัฒนธรรมเสียน เป็นวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผารุ่นแรกที่พบบนแผ่นดินจีน แหล่งที่พบอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีอายุประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสตกาล ลักษณะเด่น เป็นเครื่องปั้นดินเผารูปทรงภาชนะหุงต้มมี 3 ขา ส่วนวัฒนธรรมเสียนมีความแตกต่างคือ จะมีอุปกรณ์คล้ายกระชอนเพิ่มเติมเข้ามา จึงสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมลีเป็นสังคมวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาสำหรับหุงต้ม ส่วนวัฒนธรรมเสียนเป็นวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาในการนึ่ง
  2. ยุควัฒนธรรมเหยา ชุน และหยู่ อายุประมาณ 3,000 – 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ศูนย์กลางอยู่ในมณฑลสั่นซี ส่วนใหญ่มีความเจริญในเรื่องการปกครอง โดยเฉพาะความเป็นประชาธิปไตยของผู้ปกครอง ความกตัญญูกตเวที ความเสียสละ และคุณธรรม นอกจากนี้ยังมีความเจริญในด้านดาราศาสตร์ การประดิษฐ์ปฏิทิน และความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์
  3. ยุควัฒนธรรมหยางเชาและวัฒนธรรมหลงชาน เป็นวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาทาสี และไม่ทาสี อายุประมาณ 2,000 – 1,000 ปี ก่อนคริสตกาล วัฒนธรรมยังเซาพบในมณฑลเหอหนัน ลักษณะเด่นเป็นวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาแต้มสี โดยมีทั้ง สีแดง สีขาว สีดำ และสีน้ำตาล และยังพบการวาดรูปสัตว์ สิ่งต่างๆที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่นการล่าสัตว์ เป็นต้น ส่วนวัฒนธรรมหลุงชานพบที่มณฑลซันตุง เป็นวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ไม่มีการทาสี ไม่มีการวาดรูปใดๆ ลักษณะมีความบอบบางแตกหักง่าย ไม่ทนทาน

วัฒนธรรมหยางเชา ( Yang Shao Culture ) เป็นวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห พบหลักฐานที่เป็นเครื่องปั้นดินเผามีลักษณะสำคัญคือ เครื่องปั้นดินเผาเป็นลายเขียนสี มักเป็นลายเรขาคณิต พืช นก สัตว์ต่างๆ และพบใบหน้ามนุษย์ สีที่ใช้เป็นสีดำหรือสีม่วงเข้ม นอกจากนี้ยังมีการพิมพ์ลายหรือขูดสลักลายเป็นรูปลายจักสาน ลายเชือกทาบ


วัฒนธรรมหลงซาน ( Lung Shan Culture ) เป็นวัฒนธรรมลุ่มน้ำแยงซี ( Yangtze ) บริเวณมณฑลชานตุง พบหลักฐานที่เป็นเครื่องปั้นดินเผามีลักษณะสำคัญคือ เครื่องปั้นดินเผามีเนื้อละเอียดสีดำขัดมันเงา คุณภาพดีเนื้อบางและแกร่ง เป็นภาชนะ 3 ขา


นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงเวลาประมาณ 2,000- 1,000 ปี จีนเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว เป็นสังคมเกษตรกรรม มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู หมา แกะ วัว ควาย ม้า ลิง รู้จักการขุดบ่อ ขุกสระน้ำ เก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน มีลักษณะของชุมชนที่มีระบบรักษาความปลอดภัย มีการสร้างกำแพงล้อมรอบ โดยใช้ดินสร้างเป็นกำแพงผสมเศษหญ้า และเชื่อในเรื่องโชคชะตา


หลักฐานความเจริญในสมัยเริ่มแรก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น