วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ราชวงศ์หมิง / ต้าหมิง

ราชวงศ์หมิง
จูหยวนจู ปฐมจักรพรรดิ์ราชวงศ์หมิง

ราชวงศ์หมิง หรือ ราชวงศ์เบ๋ง (ฮกเกี้ยน) หรือ ราชวงศ์เม้ง (แต้จิ๋ว) หรือ จักรวรรดิ
ต้าหมิง เป็นราชวงศ์ที่ปกครองจักรวรรดิจีน ระหว่าง พ.ศ. 1911 (ค.ศ. 1368) ถึง พ.ศ. 2187 (ค.ศ. 1644) ดำรงอยู่เป็นเวลารวม 276 ปี โดยปกครองต่อจากราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล และพ่ายแพ้ให้กับราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูในภายหลัง

การสถาปนา

ภายหลังราชวงศ์หยวนปกครองจีนได้ใช้นโยบายการปกครองที่อยู่บนพื้นฐานอำนาจ
อำนาจบาตรใหญ่ ใช้พลังอำนาจทางทหารเหนือสิ่งอื่นใด ระบอบการปกครองขาดซึ่งปัญญาชน ก่อให้เกิดระบบราชการที่อ่อนแอเป็นเหตุให้ไม่สามารถธำรงไว้ซึ่งอำนาจการปกครองได้ยาวนาน บัณฑิตจีนเกิดปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์ทำให้ฐานอำนาจราชวงศ์สั่นคลอนขาดพลังทางปัญญาชนสนับสนุน บวกกับในปลายราชวงศ์เกิดวาตภัย อุทกภัย ทำให้ทรัพย์สินไร่นาชาวบ้านเสียหาย ผู้คนล่มตาย เกิดความขาดแคลน ผู้คนอดอยากแสนสาหัส และต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ถือโอกาสกดขี่ข่มเหงประชาชน ทำให้ชาวนาสุดจะทน บังเกิดกบฏลุกฮือทั่วไปใน ค.ศ. ที่ 1340 และใน ค.ศ. ที่ 1350 เกิดสมาคมลับของเหล่าข้าราชการจีนและปัญญาชนแต่ละท้องถิ่นสนับสนุนกบฏจีน ประจบกับการเมืองภายในเกิดแย่งชิงอำนาจกันขึ้น ผู้ปกครองขาดความสามัคคี แผ่นดินลุกเป็นไฟ ในที่ สุดจอมยุทธจูหยวนจู หรือ หวงหวู่ ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ ล้มล้างราชวงศ์หยวนได้ในปี ค.ศ. 1368 ได้ขับไล่มองโกลไปสู่ดินแดนมองโกเลียได้สำเร็จ และได้สถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้นในปี ค.ศ. 1368

การทหาร
  • ทหารเป็นหน่วยรบทหารอาชีพสืบตระกูลยังชีพด้วยตนเอง
  • หน่วยทหารจะประจำการตามแนวชายแดนที่มีภัยคุกคาม นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ป้องกันจักรวรรดิมีหน้าที่รักษาความสงบ ความมั่นคงภายใน เส้นทางคลองหลวง เส้นทางคมนาคมและในเมืองหลวง
  • หน่วยรบอาชีพมีกำลังประจำการหน่วยละ 5,600 คน ทหารต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารอาชีพซึ่งมีถึง 493 หน่วย ขึ้นตรงต่อกระทรวงยุทธนาธิการ

การทูต
  • ราชวงศ์หมิงมีความนิยมสันติวิธีทางการทูตมากกว่ายุทธวิธี เนื่องจากการทำศึกต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาล หลังจากราชวงศ์หมิงขึ้นครองราชย์ได้ส่งคณะทูตไปสู่อาณาจักรโดยรอบเพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงและให้ส่งบรรณาการตามประเพณี ซึ่งถือเป็นการยอมรับอำนาจของจีน
  • รัฐทั้งหลายต้องมีความสัมพันธ์กับจีนตามเงื่อนไข ปฏิบัติตามความเหมาะสมของระบอบจีนซึ่งความสัมพันธ์ตามเงื่อนไขจีนล้วนเป็นประโยชน์ต่อบรรดารัฐต่างๆ ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า และการปกป้องคุ้มครองภัยต่างๆ
  • ในสมัยจักรพรรดิหยุงโล (หย่งเล่อ) ได้กำหนดให้เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องส่งบรรณาการด้วย โดยได้ส่งกองเรือไปตามน่านน้ำถึง 7 ครั้ง ในระหว่าง ค.ศ. 1405 – 1433 โดยมีผู้บัญชาการที่เป็นขันทียูนนามมุสลิมที่ซื่อว่า “เจิ้งเหอ” (ชำปอกงหรือชำเป่ากง) ทำหน้าที่บังคับกองเรือสำเภาขนาดใหญ่ เรียกว่า "เป่าฉวน" แปลว่า "เรือมหาสมบัติ" ไปตามน่านน้ำไกลถึงแหลมกู๊ดโฮบของทวีปแอฟริกาได้ แต่การเดินเรือของจีนก็ยุติลงด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งที่มีโอกาสก่อนชาติอื่นๆ ในการสร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ และสามารถแสวงหาความมั่งคั่งทางพาณิชย์นาวี แต่จีนก็ปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดลอยไปเมื่อสิ้นจักรพรรดิหย่งเล่อ เพราะการเดินเรือของจีนมีจุดมุ่งหมายเพียงแสดงพระบรมเดชานุภาพ การซักจูงให้เมืองต่างๆ ส่งบรรณาการ การแสวงหามิตรประเทศ และการผจญภัยหาโชคลาภ อีกทั้งจีนมองว่าการเดินเรือสิ้นเปลืองมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่จีนต้องสงวนทรัพยากรเพื่อเตรียมรับศึกจากมองโกลและการสร้างนครปักกิ่ง รวมถึงคติขงจื๊อที่ไม่ได้สนับสนุนการค้า จึงปล่อยโอกาสให้หลุดมือ ทั้งที่จีนพัฒนาก่อนหน้าชาวตะวันตกว่า 150 ปี

ภัยคุกคาม
ภัยจากมองโกล

ในศตวรรษที่ 15 จีนต้องเผชิญกับการคุกคามกับการปล้นสะดมของพวกมองโกล
จนต้องมีการเสริมกำลังและบูรณะแนวกำแพงยักษ์ให้แข่งแกร่ง จีนต้องใช้นโยบายทางการทูตโดยยอมให้บรรณาการที่มีค่ากับคณะผู้แทนมองโกลที่เป็นคนหมู่มากคณะใหญ่เมื่อเข้ามาเจริญสัมพันธ์ จีนต้องเลี้ยงดู ต้อนรับ ทำให้สิ้นเปลืองมาก แต่กระนั้นมองโกลเองก็มักถือโอกาสปล้นสดมภ์และรุกรานจีนเมื่อมีโอกาส

ในสมัยจักรพรรดิทีมูร์ของมองโกล ได้สร้างจักรวรรดิมองโกลใหม่โดยครอบครอง
เปอร์เซีย เมโสโปเตเมีย รุสเชียภาคใต้ และอินเดียในภาคเหนือ และเตรียมบุกจีนแต่ทีมูร์ได้สวรรคตเสียก่อนระหว่างทางเป็นการปิดฉากความเรืองอำนาจของมองโกลนับแต่นั้นมา

ภัยจากโจรสลัด

ภัยคุกคามจากโจรสลัดปล้นสดมภ์ในน่านน้ำและชายฝั่งทะเลที่สำคัญของจีนก็คือ ญี่ปุ่น
ในศตวรรษที่ 16 มีโจรสลัดระบาดมาก จีนต้องเผชิญกับภัยคุกคามโจรสลัดญี่ปุ่นถึงกับต้องห้ามการค้าทางทะเล ห้ามต่อเรือขนาดใหญ่ และอพยพคนจีนออกจากชายฝั่ง ภัยคุกคามจากโจรสลัดได้พัฒนาเป็นการคุกคามจากญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นบุกเกาหลีได้ใน ค.ศ. 1592 จนทำให้จีนต้องตัดสินใจรบกับญี่ปุ่นเพื่อปกป้องดินแดนแมนจูเรียและจีนในภาคเหนือ การรุกของญี่ปุ่นได้สิ้นสุดลงเมื่อขุนศึกฮิเดโยชิถึงแก่อสัญกรรมทำให้ญี่ปุ่นต้องถอยทัพกลับ และสิ้นสุดอย่างแท้จริงเมื่อตระกูลโตกูงาวาได้ดำเนินนโยบายปิดประเทศใน ค.ศ. 1636 เมื่อสิ้นภัยคุกคามกับญี่ปุ่น จีนกลับต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากแมนจูต่อในศตวรรษที่ 17

เศรษฐกิจ
ภาษี
  • ในสมัยเริ่มแรกภาษีที่ดินเป็นรายได้หลักของรัฐ เจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีตามที่ถือครอง
  • พลเรือนต้องขึ้นทะเบียนเพื่อเรียกเกณฑ์และเสียภาษีตามเกณฑ์แรงงานและการถือครองที่ดิน โดยชายฉกรรจ์ที่ทีอายุ 16-60 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานเพื่อราชการบ้านเมือง
  • รัฐได้รีดภาษีและแรงงานจากราษฎรด้วยวิธีสลับซับซ้อนมาก จึงต้องจัดตั้งการรวมตัวของแรงงานเรียกว่า “ระบบหลีเจีย” มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีและเรียกเกณฑ์แรงงาน ช่วยเหลือนายทะเบียนในการขึ้นทะเบียนพลเรือน (บัญชีหางว่าว)
  • รัฐจัดเก็บภาษีพืชผลตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีละ 2 ครั้ง คือในเดือน 8 (ภาษีฤดูร้อน) และเดือน 2 (ฤดูใบไม้ร่วง)
  • ในศตวรรษที่ 16 รัฐเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีโดยยินยอมให้ชำระภาษีเป็นเงินสดได้แทนการถูกเรียกเกณฑ์แรงงาน และปรับปรุงให้สะดวกขึ้นโดยมีระบบเหมาจ่ายโดยรวมภาษีทุกประเภทเข้าด้วยกันเป็นภาษีเดียวและชำระโดยใช้เงินสดคือเหรียญกษาปณ์เงิน (Silver)

การเกษตร
  • ราชวงศ์หมิงมีนโยบายเศรษฐกิจแบบยังชีพด้วยตนเองในทุกระดับของชุมชน ตระหนักในคติขงจื๊อที่ถือว่าการเกษตรเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ของแผ่นดิน
  • มีการบังคับอพยพประชากรจากภาคใต้ไปฟื้นฟูที่ดินใหม่และตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำฮวงโฮและแม่น้ำหวาย เนื่องจากราชวงศ์หมิงไม่มีการจัดสรรและปฏิรูปที่ดินใหม่เพราะเกรงจะกระทบต่อชนชั้นปกครองเจ้าของที่ดิน
  • มีการแจกจ่ายที่ดินแก่ทหารประจำการประจำท้องถิ่นเพื่อยังชีพด้วยตนเอง
  • จนกระทั่งศตวรรษที่ 15 รัฐได้ดำเนินนโยบายยึดที่ดินขนาดใหญ่จากชนชั้นเจ้าของที่ดินแล้วแจกจ่ายให้ชาวนาหรือให้เช่า
  • รัฐมีการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกพืชไร่เพื่อบำรุงรักษาดิน มีการบำรุงรักษาระบบชลประทาน ออกระเบียบสำรองข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางหลวงเพื่อใช้ในยามเกิดภัย
  • แนะนำการปลูกพืชพันธ์ในเขตแล้ง เช่น ข้าวฟาง และมีการนำพืชพันธ์ชนิดใหม่มาทดลองปลูก เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด มันเทศ ฝ้าย ที่นำมาจากอเมริกา

การค้าขาย
  • การค้าขายมีความก้าวหน้าจนเกิดระบบทุนนิยม
  • การค้าภายในเป็นการค้าระหว่างภูมิภาค สินค้าได้แก่ ข้าวเปลือก เกลือ ยารักษาโรค อาหารทะเล ไม้ เครื่องปั้นดินเผา สิ่งทอ ศิลปวัตถุ เครื่องโลหะ เครื่องถ้วยเปลือกไข่ สินค้าฟุ่มเฟือย
  • การค้ากับโลกภายนอก จีนมีเส้นทางการค้าทางบกในเอเชียกลาง และเส้นทางการค้ากับทะเล ภาคใต้ของมณฑลฝูเจียนติดต่อกับโลกภายนอกโดยเฉพาะโปรตุเกส ศูนย์กลางส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองฉวนโจว จางโจว กวงตุ้ง หุยโจว และมณฑลซานซี ส่านซี กานสู มณฑลเจ้อเจีย ในเมืองนานกิง ซูโจว หางโจว
  • การค้าทางทะเลมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีการพัฒนาการต่อเรือที่ล้ำหน้ากว่าชนชาติใดในโลกที่สามารถเดินข้ามมหาสมุทรได้ไกล สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ไหม เหรียญกษาปณ์ทองแดง เครื่องถ้วยเปลือกไข่ เครื่องเคลือบลงยา เครื่องปั้นเผา
  • ใน ค.ศ. 1498 จีนได้ตั้งหน่วยราชการพิเศษเพื่อควบคุมดูแลการค้าทางทะเลขึ้นถึง 3 แห่ง คือที่เมืองหนิงโปทำการค้ากับญี่ปุ่น ที่เมืองฉวนโจวทำการค้ากับหมู่เกาะริวกิวและไต้หวัน ที่เมืองกวางตุ้งทำการค้ากับเอเซียอาคเนย์
  • การค้าขายใช้ระบบเงินตรา ชำระภาษีด้วยเงินสด เป็นเหรียญเงิน (เดิมนำเข้ามาจากแถบเม็กซิโก)ควบคู่กับเหรียญทองแดง ยังไม่มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอน
  • เกิดสมาคมการค้าประจำภูมิภาค แต่ละที่ล้วนมีหอประชุมตามศูนย์การค้า โดยเฉพาะในนครปักกิ่ง

การเมืองการปกครอง
  • มีการฟื้นฟูการปกครองและการสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการแบบราชวงศ์ถัง
  • ระบอบการปกครองมีลักษณะเป็นไตรภาคีมี 3 ส่วน เป็นหลัก คือ ระบบราชการพลเรือน ระบบราชการทหาร และระบบผู้ตรวจราชการ
  • ระบบราชการดำเนินตามพระบรมราชโองการและพระบรมราชวินิจฉัย
  • การปกครองส่วนกลางเป็นระบบราชการพลเรือนบังคับบัญชา 6 กระทรวง และหน่วยราชการพิเศษอีกมากมายที่สำคัญได้แก่ หน่วยกำกับการขนส่งภาษีข้าว สำนักข้าหลวง ข้าหลวงตรวจการแผ่นดินและสำนักผู้ว่าราชการ
  • การปกครองส่วนภูมิภาคมีการจัดแบ่งเป็นพื้นที่การปกครอง 2 ประเภท คือ ระดับมณฑล มีทั้งหมด 15 มณฑล และมหานครเป็นพื้นที่การปกครองพิเศษขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ในระดับท้องถิ่นมีการแบ่งพื้นที่เป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน
  • สร้างประมวลกฏหมายหมิง ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายอาญาและการบริหารราชการ
  • การสอบราชการ ผู้สอบต้องผ่านการศึกษาตามลัทธิขงจื๊อ แบ่งการสอบเป็น 4 ระดับ คือระดับอำเภอ ระดับมณฑล การสอบที่เมืองหลวง และการสอบหน้าพระที่นั่ง

วัฏจักรราชวงศ์
  • การจัดเก็บภาษีแต่ละขั้นตอนอย่างซอยถี่หยิบก่อให้เกิดช่องว่างในการทุจริต การประเมินภาษีไม่เสมอภาค ทำให้รัฐขาดรายได้และประชากรเกิดตกทุกข์ได้ยาก
  • ข้าราชการไม่สามารถปฏิบัติราชการได้เต็มความสามารถเพราะเกรงพระราชอำนาจ ราชภัย จักรพรรดิบางพระองค์ไม่ทรงพระปรีชาแต่กับทรงพระราชอำนาจไว้เด็ดขาด ไม่สนพระทัยในพระราชกิจ วงการเมืองภายในเต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ขันทีทรงอำนาจอิทธิพลทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้า
  • แผ่นดินลุกเป็นไฟเกิดกบฏลุกฮือพร้อมกับโจรผู้ร้ายซุกชุม กบฏที่ลุกฮือมีหลีจือเฉิงเป็นผู้นำได้เข้ายึดนครปักกิ่ง กบฏอีกกลุ่มนำโดยจางเสียนจุงบุกยึดมณฑลเฉฉวน จักรพรรดิทรงปลงพระชนม์ชีพ แม่ทัพอู๋ซันกุยจึงเรียกขอทัพอานารยชนแมนจูเข้าปราบปรามโจร ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าแผ่นดินจีนจะสงบ และแมนจูได้ปกครองแผ่นดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น