ราชวงศ์ชิง หรือ ราชวงศ์แมนจู
นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ
ราชวงศ์ชิงไม่ได้ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน แต่เป็นชาวแมนจูซึ่งอาศัยอยู่ในเขตแมนจูเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน ในสมัยนั้น ชาวแมนจูเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยเร่ร่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งยังไม่มีคนรู้จักมากนั้น ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงของชาวจีนฮั่นอยู่ในสภาพอ่อนแอ เกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพ
ราชวงศ์ชิงนั้นได้ก่อตั้งโดยชนเผ่าหนู่เจิน โดยตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัวเป็นผู้นำ ตั้งอยู่ในดินแดนแมนจูเรีย ในปลายศตวรรษที่สิบหก นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ผู้นำเผ่าหนู่เจินได้แข็งข้อไม่ยอมขึ้นกับราชวงศ์หมิงและได้เริ่มจัดตั้งกองทัพแปดกองธงขึ้น ซึ่งเป็นกองทัพที่รวมเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อันได้แก่ ชาวหนู่เจิน, ชาวจีนฮั่นและ ชาวมองโกล นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้รวมเผ่าหนู่เจินเป็น ปึกแผ่นและเปลี่ยนชื่อเป็น แมนจู นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ถือได้ว่าเป็นผู้นำชาวแมนจูคนแรกที่ได้ถือโอกาสรวบรวมกำลังพล ในปี พ.ศ. 2179 หฺวัง ไถจี๋ โอรสของนู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้นำกองทัพขับไล่กองทัพราชวงศ์หมิงออกจากคาบสมุทรเหลียวตง และก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ ชื่อว่า ราชวงศ์ชิง
การสถาปนาราชวงศ์
การแสดงผลแบบรายการแบบมีสัญลักษณ์กำกับ
- ราชวงศ์ชิงปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หมิง และถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน
- ราชวงศ์ชิงมาจากชนเร่ร่อนชาวแมนจูซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลแมนจูเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
- ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงสมัยพระเจ้าหมิงซือจง ได้เกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพขึ้น ชาวแมนจูซึ่งนำโดย หลี่จื้อเฉิงจึงถือโอกาสรวบรวมกำลังพล เข้าบุกยึดกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นราชธานีของราชวงศ์หมิง ได้ใน พ.ศ. 2187 และสถาปนาอาณาจักรต้าชิงขึ้น จนพระเจ้าหมิงซือจงต้องผูกพระศอปลงพระชนม์ตัวเองที่ต้นไม้บนเนินเขาที่มองเห็นพระราชวังต้องห้ามได้ชัด ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์หมิง
- หลังจากสถาปนาราชวงศ์ชิงแล้ว กองทัพแมนจูยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 17 ปีเพื่อปรามปราบกลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิง ผู้แสร้งทำภักดีต่อชิง และกลุ่มกบฏทั้งหลาย
- จักรพรรดิชิงทรงออกกฎบังคับให้ชาวฮั่นทุกคนต้องไว้ผมเปียและสวมเสื้อผ้าอย่างชาวแมนจู เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและภักดีต่อราชวงศ์ชิง
- ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมครึ่งศีรษะและหนวดเครา และผูกผมด้านท้ายเป็นหางเปียยาว กฎนี้ขัดแย้งกับประเพณีปฏิบัติเดิมของชาวฮั่นที่ห้ามตัดผม ชาวจีนทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก มิฉะนั้นจะถูกตัดหัว กว่า 258 ปีที่ราชวงศ์ชิงครองประเทศ ชาวจีนได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งเนื่องจากกฎดังกล่าวนี้
การปกครองสมัยราชวงศ์ชิง
พุทธศตวรรษที่ 23 ในต้นราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นยุคที่ทางราชวงศ์ต้องผจญกับขบวนการกู้หมิงต้านชิง ของชาวฮั่นทั้งหลายที่โกรธแค้นที่ชนต่างเชื้อสายมาเป็นใหญ่ประเทศจีน ดังนั้นในสมัยของ จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิหย่งเจิ่ง และจักรพรรดิเฉียนหลง จึงต้องใช้ทั้งนโยบายประนีประนอมเพื่อให้อยู่กับชาวฮั่นได้อย่างเป็นสุข และนโยบายแข็งกร้าวเพื่อควบคุมชาวฮั่นไว้ไม่ให้คิดต่อต้าน ซึ่งนโยบายเหล่านี้กลายเป็นแนวปฏิบัติของจักรพรรดิองค์ต่อๆ มา เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอำนาจรัฐ
นโยบายประนีประนอม
นโยบายประนีประนอมถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผูกมิตรเอาอกเอาใจชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ราชวงศ์ชิงเข้าปกครองแผ่นดินจีนใหม่ๆ เพื่อสร้างบารมีให้กับราชวงศ์ชิง และขจัดความคิดต่อต้านแมนจู โดยนโยบายสำคัญๆ มีดังนี้
- จัดพระราชพิธีปลงพระศพของพระเจ้าหมิงซือจง จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิงและพระมเหสี และสร้างสุสานถวายให้อย่างสมพระเกียรติ
- ยกย่องขุนนางราชวงศ์หมิงที่สละชีพเพื่อปกป้องเยี่ยงวีรบุรษ และเกลี้ยกล่อมขุนนางหมิงให้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ชิงและดูแลเป็นพิเศษ
- ยังคงใช้วิธีคัดเลือกข้าราชการโดยวิธีการสอบจอหงวนตามแบบของราชวงศ์หมิง
- จักรพรรดิคังซี ทรงจัดทำ พจนานุกรมคังซี ซึ่งรวบรวมตัวอักษรจีนได้ครบถ้วนที่สุดสมัยนั้น และในสมัย จักรพรรดิเฉียนหลง ได้มีการรวบรวมงานวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ทั่วประเทศจีนมาเป็น ประมวลสาส์นสี่ภาค
- มีการส่งเสริมบัณฑิตที่มีผลงานทางวิชาการให้ได้รับบำเหน็จ แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะรวบรวมผลงานทางวิชาการ หนังสือหลายเล่มถูกทำลายเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง
- ยกเลิกหรือลดอัตราภาษีที่ขูดรีดในท้องที่ต่างๆ และล้มแนวการปกครองที่โหดร้ายของราชวงศ์หมิง
นโยบายแข็งกร้าว
ในขณะเดียวกัน ราชวงศ์ชิงก็ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเพื่อสยบชาวฮั่นที่คิดจะต่อต้านไว้ด้วย โดยนโยบายสำคัญมีดังนี้
- สังหารประชาชนที่รวมตัวก่อจลาจลต่อต้านราชสำนักตามท้องที่ต่างๆ อย่างโหด
- ห้ามการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสมาคมอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการรวมพลังมวลชน
- บังคับให้ชายชาวฮั่นทั่วประเทศต้องไว้ผมแบบชาวแมนจู คือ ไว้หางเปียยาวด้านหลัง และโกนผมครึ่งศีรษะ อย่างที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดีจากภาพยนตร์ ใครฝ่าฝืนจะต้องโทษประหารชีวิต
- นำกฎหมายอาชญาทางภาษา (เหวินจื้ออวี้) มาใช้หลายครั้ง เพื่อควบคุมความคิดของชาวฮั่นให้อยู่ในกรอบ ในสมัยจักรพรรดิคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลง มีปรากฏว่ามีมากถึง 70-80 คดี แต่ละคดีจะมีผู้รับเคราะห์ 10 คน จนถึงหมื่นคนก็มี ตัวอย่างคดีที่สำคัญ เช่น คดีหนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง(หมิงสื่อ) ในสมัยคังซี ที่จวนถิงหลง จัดพิมพ์ไปกล่าวกระทบประวัติศาสตร์แมนจู ราชวงศ์ชิงถึงกับขุดศพจวนถิงหลงมาแยกร่าง ผู้เขียน ตรวจอักษร ขายหนังสือ และแม้แต่ผู้มีหนังสือในครอบครองถูกประหาร 72 คน และถูกขับไล่ให้เป็นทหารแถบชายแดนอีกนับร้อยคน
เริ่มระส่ำระสาย
หลังจากเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงต้นราชวงศ์ สภาพทั่วไปในพุทธศตวรรษที่ 24 ราชวงศ์ชิงเริ่มอ่อนแอและความเจริญรุ่งเรืองลดลง เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของกลุ่มคนในวงการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองที่มีขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง เศรษฐกิจหยุดนิ่ง เพราะจักรพรรดิเฉียนหลง กษัตริย์เจ้าสำราญโปรดความหรูหราฟุ่มเฟือยและทำสงครามบ่อยครั้ง เงินท้องพระคลังขัดสน และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน
เกิดกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว
หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น รัฐบาลชิงต้องเสียดินแดนและชำระค่าฝิ่นกับค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนสูง จึงขูดรีดภาษีจากประชาชน การคลังขาดแคลน ประชาชนอดอยาก สังคมเริ่มวุ่นวาย ไร้ความสงบสุข ประชาชนเริ่มรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐกลายเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว โดยมีผู้นำคือ หงซิ่วฉวน ซึ่งได้รับอิทธิพลของคริสต์ศาสนา ร่วมกับ เฝิงอวิ๋นซาน ก่อตั้งสมาคมนับถือพระเจ้าที่มณฑลก่วงซี แล้วกลายสภาพเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1851 กองทัพของหงซิ่วฉวนกับเฝิงอวิ๋นซานบุกยึดเมืองนานกิงได้ในปีค.ศ. 1853 ขณะนั้นกองทัพมีกำลังพลนับล้านกว่าคน หลังจากได้ชัยชนะในหลายสมรภูมิช่วงท้ายของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ผู้นำทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันเองด้วยการแยกตัวเป็นอิสระ การลอบสังหารกันด้วยความระแวงใจ ทำให้กองทัพกบฏเริ่มอ่อนแอลง ราชสำนักชิงขอร้องกองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธทันสมัยและทหารแข็งแกร่งให้ช่วยกวาดล้างกบฏแลกกับผลประโยชน์ที่เสนอให้อังกฤษ ฝ่ายกบฏเริ่มสูญเสียที่มั่นไปจนถึงปลายปีค.ศ. 1863 ทหารชิงและทหารต่างชาติล้อมเมืองเทียนจิงได้ ปีถัดมาเมืองนั้นเกิดสภาพอดอยาก หงซิ่วฉวนฆ่าตัวตาย เมืองเทียนจิงแตก จึงถือเป็นการปิดฉากกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วลง แต่จิตวิญญาณต่อต้านราชวงศ์ชิงยังฝังแน่นในหัวใจของชาวฮั่นซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านแมนจูในเวลาข้างหน้าอีก
สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
หลังการปฏิรูปเมจิในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเริ่มขยายอำนาจออกนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่แผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ ด้วยการนำกองทัพบุกยึดครองเกาหลีซึ่งเป็นประเทศราชของจีนเพื่อหวังเป็นเส้นทางเข้าสู่จีน ปี พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) เกาหลีเกิดจลาจลกลุ่มภูมิปัญญาตะวันออก (ตงเสวียตั่ง) ขึ้น จึงร้องขอให้จีนช่วยเหลือ จีนส่งกองทัพไปตามคำขอ ส่วนญี่ปุ่นส่งกองทัพเรือไปยึดครองเกาหลีและโจมตีทหารจีนอันเป็นการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ กองทหารชิงพ่ายแพ้ ญี่ปุ่นยังรุกต่อเนื่องทำให้ราชสำนักชิงหวั่นเกรงความเข้มแข็งของกองทัพญี่ปุ่น จึงรีบขอเจรจาสงบศึกก่อน ในปีค.ศ. 1895 จึงทำสนธิสัญญา ชิโมโนเซกิ ระหว่างขุนนางหลี่หงจาง กับ ผู้นำญี่ปุ่นชื่อ นายอิโต อิโรบูมิ ความสูญเสียของจีนคือ ยกเกาหลี ไต้หวัน คาบสมุทรเหลียวตง ให้ญี่ปุ่น ใช้เงินค่าปฏิกรรมสงครามนับสองร้อยล้านตำลึง อนุญาตให้ตั้งโรงงานตามเมืองท่าของจีนได้
ผลจากสนธิสัญญานี้บางส่วนไปกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียซึ่งมีดินแดนบางส่วนติดกับจีนที่บริเวณคาบสมุทรเหลียวตง รัสเซียร่วมกับฝรั่งเศส เยอรมัน ทำการคัดค้านการยึดครองดินแดนผืนนั้นอย่างหนักหน่วง ญี่ปุ่นจำใจคืนคาบสมุทรเหลียวตงให้จีน โดยแลกกับเงินแท่งหลายล้านตำลึง การต้องใช้จ่ายเงินจำนวนสูงมากในหลายกรณีโดยราชสำนักชิง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนักจากการรีดภาษี ความยากแค้นแผ่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ แรงคับแค้นใจถูกเก็บอัดแน่นมากขึ้นในหมู่ประชาชน
การปฏิรูป / รัฐประหาร อู้ซีว์
หลังการพ่ายแพ้สงครามต่อฝรั่งเศสและญี่ปุ่น เยอรมันใช้กำลังยึดครองอ่าวเจียวโจว คังโหย่วเหวย ถานซือถง เสนอหลักเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบใหม่เพื่อความเข้มแข็งของชาติ ซึ่งเรียกกันว่า “แผนปฏิรูป อู๋ซีว์” โดยเน้นการผลิตบัณฑิตสมัยใหม่ เปิดกว้างการวิพากษ วิเคราะห์ พัฒนากิจการใหม่ๆที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของชาติ และความอิ่มท้องของชาวบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากพระเจ้ากวางสู่ซึ่งต้องการใช้แผนปฏิรูปนี้ยึดคืนอำนาจจากพระนางซูสีไทเฮา ข้าราชสำนักส่วนใหญ่เกิดความระแวงใจว่าแผนดังกล่าวมาจากบัณฑิตชาวฮั่น จึงร่วมมือกับพระนางซูสีทำรัฐประหาร กักขังพระเจ้ากวางสู จับถานซื่อถงกับพวกนักปฏิรูป รวมทั้งลงโทษขุนนางที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สั่งยกเลิกแผนปฏิรูปทั้งหมด เรียกว่า รัฐประหาร อู้ซีว์ ส่วนคังโหย่วเหวยกับเหลียงฉี่เชาหลบหนีไปนอกประเทศได้
หลังการปฏิรูปชาติล้มเหลว ราษฎรเริ่มตระหนักใจว่าหากไม่ล้มล้างรัฐบาลชิงซึ่งไร้ความสามารถ ราชสำนักชิงภายใต้อำนาจของพระนางซูสีเหลวแหลกและเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปไปสู่ความเข้มแข็งของชาติ คนจำนวนมากจึงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติของดร.ซุนยัดเซน ในเวลาต่อไป
ขบวนการอี้เหอถวน / ศึกพันธมิตรแปดชาติ (กบฏนักมวย)
ตอนปลายราชวงศ์ชิงการรุกรานของต่างชาติทั้งด้านกองทหารและศาสนาคริสต์สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันที่ราชสำนักกลัวเกรงต่างชาติโดยไม่คุ้มครองชาวบ้านที่ถูกรังแกเหยียดหยาม จึงสั่งสมความแค้นกลายเป็นพลังต่อต้านต่างชาติอย่างเร็ว บวกกับภัยพิบัติของแม่น้ำฮวงโหแล้งติดต่อกันหลายปี ทำให้เกิดความยากแค้นจึงมีกลุ่มความเชื่อลัทธิต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอี้เหอถวนในมณฑลซานตุงกับเหอเป่ย ซึ่งนอกจากสอนมวยแล้ว ยังฝังความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์ให้ชาวบ้านด้วยพร้อมกับแนวคิดสนับสนุนราชวงศ์ชิง กำจัดต่างชาติ ทำให้มีผู้ร่วมกลุ่มเพิ่มทวีขึ้น นอกจากนั้นราชสำนักชิงโดยพระนางซูสีต้องการใช้กลุ่มนี้ต่อต้านต่างชาติซึ่งคัดค้านพระนางกักขังพระเจ้ากวางสู กลุ่มนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือทำลายต่างชาติของและได้รับการสนับสนุนจากพระนางซูสีซึ่งคอยบงการอยู่เบื้องหลัง อันสร้างความไม่พอใจแก่ชาวต่างชาติอย่างมาก
ปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) พระนางซูสีไทเฮาสั่งกลุ่มอี้เหอถวนโจมตีเขตสถานทูตของต่างชาติในปักกิ่ง ทำให้ชาติต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหายรวมตัวกันเป็นกองทัพพันธมิตรแปดชาติตอบโต้จีน ทหารชิงแตกพ่าย ทหารพันธมิตรบุกเข้ากรุงปักกิ่งและยึดพระราชวังต้องห้ามไว้ พระนางซูสีพาพระเจ้ากวางสูลี้ภัยหนีไปเมืองซีอาน ส่วนกองทัพพันธมิตรปล้นสะดมวังต้องห้ามและบ้านเรือนของชาวบ้าน อันสร้างความเสียหายอย่างมากทั้งสถานที่หรือสมบัติมีค่าของจีน ปีต่อมาราชสำนักชิงส่งตัวแทนเจรจาสันติภาพโดยยอมใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนสูงมาก ยอมให้ต่างชาติตั้งกองทหารในเขตที่ต้องการอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ของชาติ รวมทั้งกำหนดขอบเขตที่ห้ามคนจีนเข้าไปทั้งที่เป็นดินแดนจีน การสูญเสียอธิปไตยเพิ่มเติมจากสัญญาต่างๆที่เคยทำไว้โดยมาจากความอ่อนแอของราชสำนักชิงสร้างความคับแค้นใจแก่คนจีนซึ่งเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ชาติจะรอดพ้นภัยพิบัติได้ด้วยการล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น แนวคิดนี้ลุกลามไปทั่วแผ่นดิน ขบวนการปฏิวัติจึงรวมตัวและเคลื่อนไหวเข้มข้นมากขึ้น อันสั่นคลอนต่ออำนาจของพระนางซูสีไทเฮาและราชสำนักชิงในเงื้อมเงาของพระนางหนักขึ้นทุกขณะ
รัฐธรรมนูญของราชสำนักชิง
ช่วงปลายลมหายใจของพระนางซูสีไทเฮา ฝ่ายต่อต้านราชสำนักชิงมีพลังมากขึ้นและแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญโดยยังมีฮ่องเต้ของคังโหย่วเหวย กับ ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงของดร.ซุนยัดเซน เพื่อเป็นการลดความร้อนแรงของประชาชน ราชสำนักชิงเลือกจะร่างรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการ ทำให้ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงไม่เป็นที่สนใจเพราะความหวังใหม่ในท่าทีอ่อนลงของราชสำนัก พระนางซูสีไทเฮาคัดเลือกรัชทายาทใหม่และถือเป็นคนสุดท้ายของราชวงศ์ชิงก่อนสิ้นลมหายใจ คือ จักรพรรดิผู่อี๋หรือผู่อี๋ ตอนนั้นมีพระชนมายุไม่ถึง 3 ขวบ และเปลี่ยนเป็นรัชศกเซียนถ่ง โดยมีพระบิดา คือ เจ้าชายฉุน (ไจ้เฟิง) เป็นผู้สำเร็จราชการบริหารแผ่นดินแทน พระบิดาร่างรัฐธรรมนูญต่อไปเมื่อประกาศใช้ในแผ่นดินกลับสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนอย่างมาก เมื่อกำหนดให้กลุ่มผู้บริหารประเทศเป็นเชื้อพระวงศ์ชิงส่วนใหญ่ คนจีนตระหนักใจแล้วว่าความหวังเดียวของชาติ คือ ต้องใช้กำลังล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น ฝ่ายที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญของคังโหย่วเหวยผันตัวเองไปสนับสนุนกลุ่มดร.ซุนยัดเซนมากขึ้น หลังจากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับของราชสำนักชิงแล้ว ประชาชนเปลี่ยนไปเข้าร่วมแนวคิดของดร.ซุนยัดเซนเพิ่มทวีขึ้นและถือว่าทรงอิทธิพลมาก ชะตากรรมของราชสำนักชิงเข้าสู่จุดวิกฤติ
สงครามฝิ่น
สงครามฝิ่นเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1834-1843 และครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1856-1860
สงครามฝิ่นเป็นผลมาจากการที่จีนไม่ยอมเปิดประตูการค้าเสรีตามความต้องการของชาติตะวันตก สมัยนั้นจีนทำการค้ากับชาติตะวันตกด้วยระบบการผูกขาดโดยพ่อค้าจีนที่เรียกว่า ก้งหอง หรือ กงหาง ในภาษาแมนดาริน (จีนกลาง) และจำกัดขอบเขตการค้าขายอยู่ในเมืองกวางโจว ฝ่ายอังกฤษซึ่งดำเนินการค้าโดยบริษัทอินเดียตะวันออก ขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลให้แก่จีน เนื่องจากนำเข้าใบชาจากจีนจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถขายสินค้าให้แก่จีนได้อย่างเสรี กระทั่งปี ค.ศ. 1820 บริษัทพบสินค้าใหม่ซึ่งทำกำไรให้งดงาม คือ ฝิ่น ซึ่งปลูกในอินเดีย (อาณานิคมของอังกฤษ) ส่งผลให้สถานภาพการเสียเปรียบดุลการค้าของอังกฤษดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากกลายเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้แก่อังกฤษ รัฐบาลชิงยังตระหนักถึงพิษภัยของการเสพติดฝิ่นของคนจีนในทุกชนชั้น ในปีค.ศ.1838 จึงประกาศห้ามนำเข้าฝิ่น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิตทั้งผู้ค้าและผู้เสพแต่ฝิ่นยังคงหลั่งไหลเข้าแผ่นดินจีน ทำรายได้มหาศาลให้ประเทศตะวันตก จวบจนเดือนมีนาคม ค.ศ.1839 จีนยึดฝิ่นของพ่อค้าอังกฤษจากท่าเรือในกวางโจว อังกฤษขอคืน แต่ถูกปฏิเสธ ทั้งทางการจีนบังคับให้พ่อค้าอังกฤษลงนามในข้อตกลงไม่ค้าขายฝิ่น พ่อค้าอังกฤษปฏิเสธการลงนามนั้น รัฐบาลชิงทำหนังสือถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ถามว่ารัฐบาลอังกฤษห้ามค้าฝิ่นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์อย่างเด็ดขาด โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการค้าที่ผิดศีลธรรม แต่กลับส่งฝิ่นมาขายในตะวันออกไกล และทำกำไรมหาศาล อังกฤษตอบว่า การที่รัฐบาลชิงยึดทรัพย์สินของชาวอังกฤษเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม และขอสินค้าคืน รัฐบาลจีนตอบ โต้ด้วยการทำลายฤทธิ์ฝิ่นที่ยึดได้ก่อนทิ้งลงทะเล อังกฤษจึงถือเป็นข้ออ้างในการยกกองกำลังปิดล้อมชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง รวมถึงฮ่องกง จีนพ่ายแพ้ ต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิง 29 สิงหาคม ค.ศ. 1842 รัฐบาลจีนต้องชดใช้ค่าฝิ่นที่ถูกทำลาย จ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามให้แก่อังกฤษ และเปิดเมืองท่าชายทะเล 5 แห่ง ได้แก่ กวางโจว เซียะเหมิน ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงยกเกาะฮ่องกงและเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่โดยรอบเป็นเขตเช่าของอังกฤษ โดยชาวอังกฤษและคนที่อยู่ใต้อาณัติสามารถอาศัยอยู่โดยได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และต่อมาในปี 1844 ฝรั่งเศสและอเมริกาได้บีบบังคับให้จีนให้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอังกฤษ สนธิสัญญานานกิงเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฉบับแรกที่มหาอำนาจตะวันตกทำกับจีน สาระในสัญญามีผลทำให้ระบบการค้าผูกขาดแบบก้งหองถูกยกเลิก การเปิดเมืองท่าในชายฝั่งภาคตะวันออก 5 เมือง พร้อมด้วยท่าเรือในเมืองเหล่านี้มีสถานะเป็นท่าเรือตามสนธิสัญญา มหา อำนาจตะวันตกเป็นผู้ประกอบการบรรทุกขนถ่ายสินค้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าภาระท่าเรือให้แก่รัฐบาลจีน อัตราภาษีนำเข้าอยู่ในอัตราคงที่และต่ำมาก ทั้งหมดนี้ทำให้จีนแทบไม่มีรายได้จากการค้ากับชาติตะวันตก ที่สำคัญ การนำเข้าสินค้าได้อย่างเสรีมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพื้นบ้านของจีนอย่างรุนแรง
ราชวงศ์ชิงล่มสลาย
- ในช่วงต้นของพุทธศตวรรษที่ 25 ประชาชนเริ่มรวมกลุ่มกันประท้วงมากขึ้นและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวางซวีสวรรคตใน พ.ศ. 2451 ทิ้งให้สมาชิกราชวงศ์ที่ไร้บารมีและสถานภาพทางการเมืองไม่แน่นอนยังอยู่ในพระราชวังต้องห้าม
- ปูยี โอรสขององค์ชายชุนที่ 2 ได้รับการอภิเษกให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปตั้งแต่พระชนมายุเพียง 2 ชันษา โดยให้พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน
- ต่อมา นายพลหยวนซือไข่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งทางทหาร
- ในกลางปี พ.ศ. 2454 องค์ชายชุนที่ 2 ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีหลวง โดยสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นพระญาติสกุลอ้ายซินเจวี๋ยโหล มีหน้าที่บริหารประเทศจีนในเรื่องทั่วไป การตั้งคณะรัฐมนตรีหลวงครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับข้าราชการชั้นสูงทั้งหลาย
- ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ได้เกิดจลาจลอู่จางขึ้น และต่อมา นายพลซุน ยัตเซ็น ได้ประกาศก่อตั้งรัฐบาลของตนขึ้นใหม่ ในนามสาธารณรัฐจีน ที่เมืองนานกิง หัวเมืองหลายแห่งเริ่มตีตัวแยกจากรัฐบาลราชวงศ์ชิง เมื่อสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจเช่นนี้ รัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงเรียกตัวนายพลหยวนซือไข่ที่รู้สึกไม่พอใจราชวงศ์อยู่แล้วกลับเข้ามาควบคุมกองทัพเป่ยหยาง เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้แข็งข้อทั้งหลาย
- ที่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลของตนแล้ว นายพลหยวนก็ได้เรียกร้องให้องค์ชายชุนลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ โดยการเรียกร้องครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจาก หลงหยูฮองเฮา
- หลังจากองค์ชายชุนออกจากตำแหน่งแล้ว หยวนซือไข่และนายพลจากกองทัพเป่ยหยางก็ครอบงำราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ ประเทศจีนในครั้งนั้นก็มี รัฐบาล 2 ฝ่าย รัฐบาลหยวนซือไข่ปฏิเสธการทำสงครามกับรัฐบาลสาธารณรัฐของซุน ยัตเซ็น โดยให้เหตุผลว่าเสียค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีเหตุผล
- คำเรียกร้องของราชวงศ์ชิงคืออยากให้ประเทศจีนปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และซุนยัตเซ็นอยากให้ก็ประเทศปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ
- นายพลหยวนได้เปิดการเจรจากับซุนยัตเซ็น โดยที่ซุนยัดเซ็นมีเป้าหมายว่าถ้าก่อตั้งสาธารณรัฐจีนสำเร็จแล้ว อาจจะให้นายพลหยวนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ใน พ.ศ. 2455
- หลังจากการเจรจา หลงหยูไทเฮาก็ได้ออกพระราชเสาวนีย์ประกาศให้จักรพรรดิปูยีผู้เป็นพระโอรสบุญธรรมสละราชบัลลังก์
- การล่มสลายของราชวงศ์ชิงใน พ.ศ. 2454 ถือเป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีนที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี
ผู่อี๋ จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง และราชวงศ์จีน